วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2561

2. ประสบการณ์จากจอมบึงมาราธอน ครั้งที่ 33


ผมเพิ่งวิ่งออกกำลังกาย และฝึกวิ่งระยะไกลประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา จากคนที่เกลียดการวิ่งที่สุดเพราะมันเหนื่อยมาก ก็ค่อยๆพยายามวิ่งเอาระยะทาง ไม่เน้นความเร็ว จนอยากลองไปร่วมงานวิ่งกับคนอื่นๆบ้าง เก็บความรู้สึกที่ไม่ใช่การวิ่งตามลำพังกับความคิดของตัวเอง ขอแค่วิ่งครบระยะทาง ไม่ถูก cut off ก็พอแล้วครับ

ภาพนี้เมื่อลงวิ่ง 5 ก.ม. เป็นงานของที่ทำงานจัดที่สวนลุม ปีพ.ศ.2559 ใช้เวลาเกือบชั่วโมง ดูกางเกงนักวิ่งสิครับ ยังกะพวกลูกประดู่ซ้อมวิ่ง

ผ่านมาปีกว่าก็ยังวิ่งช้าเหมือนเดิม เคยทำเวลาดีที่สุดสำหรับระยะ 5 ก.ม. เมื่อ 12 มกราคมปีนี้ แต่โดยเฉลี่ยแล้วก็ประมาณเกือบ 50 นาที




   ในสังคมนักวิ่งระยะไกลหรือวิ่งมาราธอนเขากล่าวขานกันว่า ต้องไปวิ่งงานจอมบึงมาราธอนให้ได้สักครั้ง จนไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ งานจอมบึงมาราธอนมีผู้สมัครจำนวนมาก จนต้องจับฉลากผู้สมัครที่จะมีสิทธิ์ไปวิ่ง ผมลองสมัครไปวิ่งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาและได้โควตาไปร่วมวิ่งในระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 ก.ม. จึงเริ่มฝึกซ้อมจริงจังด้วยตารางวิ่ง 47 วันของครูดิน ผมพยายามซ้อมตามตารางของครู แต่ต้องปรับให้เหมาะกับการทำงานบ้าง และขยายเวลาไป 76 วัน จนถึงวันวิ่งจริงที่จอมบึง แต่ผลลัพธ์จากฝึกซ้อมตามตารางของครูดิน ก็ทำให้ผมมีความมั่นใจมากขึ้น วิ่งได้ดีขึ้นจริงๆ จากที่เคยลองวิ่ง 21 k.ครั้งแรกๆ ใช้เวลาเกือบสี่ขั่วโมง ก็สามารถลดเวลาไปได้ราวครึ่งชั่วโมง


   ผมขับรถจากบ้านไปดูสถานที่จัดงานวิ่ง และหาที่พัก ระยะทางกว่าสามร้อยกิโลเมตร ถึงสามครั้ง เพราะโรงแรม รีสอร์ทต่างๆในเขตจังหวัดราชบุรีจะเต็มหมดในวันที่มีการวิ่งมาราธอน ด้วยการจองล่วงหน้าแทบจะข้ามปีกันทีเดียว ผมพยายามจะดูว่าจะขับรถไปจอดแล้วไปวิ่งเลยได้อย่างไร จะกินจะอยู่อย่างไรในวันเสาร์ก่อนที่จะวิ่งวันอาทิตย์

   แม้จะได้ยินมาว่ามีหลายๆคนกางเต็นท์นอนในสนาม ภายในสถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง หรือนอนตามอาคารเรียนกัน แต่ด้วยความที่ผมเดินทางไปวิ่งลำพังคนเดียว จึงรู้สึกวิตกกับความสะดวกของการใช้ห้องน้ำห้องส้วมพอสมควร กับการคะเนถึงจำนวนคนมากมายที่จะต้องรอใช้ห้องส้วมในเวลาเร่งรีบ สุดท้ายผมติดต่อห้องพักรายวันใกล้กับรภ.จอมบึง 1 ก.ม. แต่ต้องขนที่นอนไปเอง เขามีแต่ห้องโล่งๆ พัดลม 1 ตัว แต่ผมก็สบายใจกับห้องน้ำในตัวและระยะทางที่จะเดินเท้าไปยังจุดปล่อยตัวได้ง่ายๆ แค่เริ่มสมัครจะไปวิ่งงานจอมบึงฯก็ไม่ง่ายแล้วครับ เลือกเอาว่าจะจองที่พักแบบถูกใจใช่เลย ก่อนได้สิทธิ์ไปวิ่ง หรือรอได้สิทธิ์ก่อนแล้วค่อยหาที่พัก ถ้าเลือกแบบหลังก็คงจะเป็นแบบผมนี่แหละ


อันนี้เป็นที่พักเคลื่อนที่แบบพิเศษ ดูตัวหนังสือด้านข้าง จำได้ว่าเคยเห็นในอินเตอร์เน็ต คงจะบริการสำหรับสมาชิกของเขา

    ผมขับรถไปถึงที่พักที่โทรฯไปจองไว้ล่วงหน้าเป็นเดือนราวบ่ายสาม คิดว่าเข้าจอดแล้วก็ฝังตัวเลยครับ ไม่ต้องขับออกไปไหนต่อ เพราะดูแล้วการจราจรเริ่มคับคั่ง รถยนต์จอดตามถนนในรภ.จอมบึงเต็มไปหมด บริเวณใกล้กับถ้าจอมพลระหว่างหอพักที่ผมอยู่กับรภ.จอมบึง มีฝูงลิงหากินแถวนั้น พวกมันปีนป่ายขึ้นไปนั่งเล่นบนหลังคารถหลายตัว ผมคิดว่าที่รถยนต์เข้ามาจอดในรภ.จอมบึงมากมาย น่าจะเป็นเพราะมารับเสื้อและเบอร์วิ่งกันหรือเปล่า ส่วนผมเองเลือกสมัครแบบให้จัดส่งทางไปรษณีย์ครับ ที่กล่าวแบบนี้เพราะเช้าวันรุ่งขึ้นตอนผมเดินมาวิ่งตามเส้นทางเดิม เห็นที่ว่างเยอะพอสมควร หรืออาจจะเป็นเพราะขับเข้ามาอีกไม่ได้ เนื่องจากเขาปิดถนนตั้งแต่แยกไฟแดงก่อนถึงรภ.จอมบึงตั้งแต่ตีสาม คนที่พักไกลๆจะต้องขับรถไปจอดตามจุดที่ผู้จัดงานเตรียมไว้ หากมาหลังช่วงปิดถนนแล้ว




    เย็นวันเสาร์ผมเดินไปดูบรรยากาศในงาน ก็คึกคักดีครับ เริ่มมีน้องๆนักศึกษามาร้องเพลงเชียร์กันบ้างแล้ว นักวิ่งและผู้ติดตามเดินกันขวักไขว่ สังเกตว่าคนไหนเป็นนักวิ่งได้ไม่ยาก โดยดูจากเสื้อที่พวกเขาสวมใส่ มักจะมีรูปแบบหรือตัวหนังสือที่บ่งบอกประสบการณ์ผ่านการวิ่งสนามไหนมาแล้ว ระดับ Finisher 42.195 k.ก็น่าภูมิใจไม่น้อย ผมยังฝันจะไปให้ถึงสักวัน


   สมกับที่เป็นงานวิ่งระดับที่นักวื่งกล่าวขวัญกันครับ บรรยากาศเป็นมหกรรมหรือ Festival ของงานวิ่งมาราธอนจริงๆ มีร้านค้าอุปกรณ์การวิ่งมาขายหลายเจ้า ผมลองซื้อเจลให้พลังงานมาห้าซอง กะว่าเอาไว้กินระหว่างวิ่งสักสองซองตามสูตรที่นักวิ่งบางท่านแนะนำเรื่องการเตรียมตัววิ่งฮาล์ฟมาราธอนในเ You Tube เย็นวันนี้เขามีการวิ่งแข่งของเด็กๆด้วย น่าจะเป็นระยะ 3 ก.ม. เด็กๆพวกนี้พละกำลังดีมาก วิ่งกันเร็วๆทั้งนั้น
    ภายในหอประชุมเป็นที่รับเบอร์วิ่ง และมีบูธขายเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์เกี่ยวกับวิ่ง และเครื่องดื่มสำหรับนักวิ่งครับ พรุ่งนี้สถานที่นี้จะใช้เป็นที่มอบถ้วยรางวัลสำหรับนักวิ่งแถวหน้า และมีถ้วยพระราชทานสำหรับผู้ชนะเลิศแต่ละประเภทด้วย

   ที่จุดปล่อยตัวนักวิ่งจะแบ่งพื้นที่เป็นบล็อก A ถึง E ตามความสามารถในการวิ่งของผู้สมัคร คนที่คิดว่าตัวเองวิ่งเร็ว ใช้เวลาน้อย ก็เลือกอยู่ในกลุ่มต้นๆ หรือเข้าจุดปล่อยตัวที่โซน A ผมเองคิดว่าน่าจะจบฮาล์ฟมาราธอนด้วยเวลาประมาณ 4 ช.ม. จึงขออยู่ที่โซน E ท้ายสุดเลยครับ จากจุดนี้มองไปเห็นโซน A ลิบๆที่หลอดไฟสีขาวโน่น
 
เย็นวันเสาร์ผมเดินเท้าจากที่พักไปบริเวณที่จัดงานสองรอบ รวมระยะทางราวๆ 5 ก.ม. ถือว่าเป็นการวอร์มขาก่อนวิ่งวันพรุ่งนี้ แวะกินก๋วยเต๋ยว 1 ชามและข้าวผัดกะเพรา ไข่ดาว อย่างละหนึง ต่อรอบ ที่ร้านอาหารตามสั่งใกล้ที่พัก ผมเดินดูร้านอาหารใกล้กับที่จัดงานในรภ.จอมบึง ในช่วงโพล้เพล้ใกล้ค่ำแล้ว มองไม่ค่อยเห็น จึงไม่ได้ลองชิม กะว่าจะหาครีมทาขา กับเครื่องดื่มเกลือแร่ไว้กินบ้าง ก็ขี้เกียจเดินออกไปถึงย่านตลาดปากทางเข้ารภ.จอมบึงนู่น จึงได้ขนมกินเล่นไม่กี่อย่างกับน้ำดื่มจากร้านขายอาหารตามสั่งที่ผมกินมื้อเย็นนั่น

  เช้าวันอาทิตย์ ผมเดินเท้าจากที่พักต้งแต่ตีสี่ไปยังจุดปล่อยตัวเป็นการวอร์มอัพไปในตัว 1 ก.ม. แล้วไปทำ Dynamic Stretching อีกนิดหน่อย รอปล่อยตัวตอนตีห้าครึ่ง ซึ่งนักวิ่งระยะมาราธอนปล่อยตัวไปก่อนแล้วตั้งแต่ตีห้า  ปีนี้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จร่วมแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอนด้วยครับ
ผมวิ่งครั้งนี้ต้องแวะเข้าห้องน้ำถึงสองครั้ง ออกจากจุด Start ไปไม่เท่าไหร่ก็แวะเข้าปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง นับว่าเป็นจุดที่สะดวกที่สุดแล้วครับ แต่สำหรับนักวิ่งผู้หญิงก็ยังต้องต่อแถวกันบ้าง ไม่รู้ว่าผมดื่มน้ำมากเกินไปหรือว่าตื่นเต้นกับการวิ่งระยะนี้เป็นการเป็นงานครั้งแรกก็ไม่รู้ ก่อนวิ่งก็ไปเข้าแถวถ่ายเบาที่ห้องสุขาข้างหอประชุมในรภ.จอมบึงทีนึงแล้ว กะว่าจะปล่อยอีกทีก่อนปล่อยตัว แต่ต่อแถวคนเข้าห้องน้ำไม่ไหว เลยไปหาที่ปล่อยเอาข้างหน้า แต่ก็ยังรักษามารยาทไว้อย่างดี ไม่เคยปล่อยเรี่ยราดข้างทางนะครับ จุดที่สองผมแวะเข้ารถสุขาเคลื่อนที่ช่วงสิบกิโลเมตรกว่าๆ ตอนซ้อมวิ่งที่บ้านก็ไม่เคยปวดฉี่กลางทางเลยนะครับ

ขอขอบคุณภาพจากตากล้องทุกๆท่านที่ขอหยิบยืมภาพมาประกอบนะครับ

  ในที่สุดผมก็จบการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนด้วยเวลาสามชั่วโมงกว่าๆ ดีกว่าที่คิดไว้ ก็โอเคแล้วครับ รับเหรียญหลังเส้นชัย จับมือแสดงความยินดีกับนักวิ่งท่านอื่นๆบ้าง หาน้ำดื่ม ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ แล้วก็เดินกลับที่พัก ไปหาข้าวกินข้างนอก เพราะในงานคนเยอะมาก คิดว่าไม่ต่อแถวรอกินดีกว่า
 ก่อนปล่อยตัวนักวิ่งได้ยินคุณทนงศักดิ์ ดารานักวิ่งรุ่นใหญ่ ที่มาเป็นพิธีกรงานนี้บอกว่าหลังเข้าเส้นชัยจะมีเซอร์ไพรส์  รับเหรียญมาแล้วสักพัก จึงนึกขึ้นได้ ที่แกว่าเซอร์ไพรส์คงเป็นเหรียญที่ได้รับมาสองอันนี้เอง เหรียญเซรามิครูปโอ่งคงจะเป็นเหรียญดั้งเดิมที่ผู้จัดงานทำไว้มอบให้นักวิ่งหลังเข้าเส้นชัย แต่ผมเห็นเว็บไซต์หนึ่งมีการเชิญชวนให้นักวิ่งมาลงความเห็นทักท้วงขอเหรียญที่เป็นโลหะแบบที่เคยให้ครั้งก่อนๆ ไม่อยากได้เหรียญเซรามิคกัน ก็ต้องนึกชมทีมงานจอมบึงมาราธอนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเหรียญรางวัลนะครับ ว่าใส่ใจกับความรู้สึกของนักวิ่งอย่างมาก เพราะในที่สุดเขาก็ทำเหรียญโลหะเพิ่มให้อีกเหรียญ สมใจผู้รับถ้วนหน้า
สรุปความคิดเห็นส่วนตัวที่มีต่อจอมบึงมาราธอนครั้งที่ 33

ผมชอบบรรยากาศของงาน โดยเฉพาะกองเชียร์ตลอดเส้นทางวิ่งที่ทำให้การวิ่งสนุกสนาน และน้ำดื่มสำหรับนักวิ่งที่มีเหลือเฟือ แทบจะทุกกิโลเมตรทีเดียว ความร่วมมือร่วมใจของชาวจอมบึงในการปิดถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักวิ่งทำได้เกือบ 100%  ผมคิดว่านักวิ่งทุกคนบนเส้นทางจอมบึงมาราธอนไม่ว่าจะวิ่งระยะไหนก็ตาม น่าจะรู้สึกเบิกบาน แม้จะเหนื่อยกายก็ตาม รอยยิ้ม การให้กำลังใจ การส่งเสียงเชียร์ซึ่งกันและกันเป็นความประทับใจที่หาไม่ได้ง่ายจากสนามวิ่งอื่นๆ ส่วนหนึ่งคงมาจากจำนวนนักวิ่งนับหมื่นร่วมเส้นทาง ที่ย่อมจะมีนักวิ่งใจดี ประสบการณ์มาก เอื้อเฟื้อต่อสังคมนักวิ่งอยู่มาก




กองเชียร์และนักวิ่งที่มาร่วมวงหลังวิ่งเสร็จแล้ว

ภาพกองเชียร์ต่อไปนี้ขออนุญาตนำภาพของตากล้องในงานมาแบ่งปันนะครับ ขอบคุณเจ้าของภาพด้วยครับ

ภาพจากครูแสง Pat Running ครับ ดูความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านสิครับ เกินร้อย%



มีพระพรมน้ำมนต์ให้ระหว่างทางด้วยครับ ทึ่ง!



ผมชอบภาพนักวิ่งท่านนี้ เห็นจากเว็บ Shutter Running แกวิ่งในชุดนอน และไม่สวมรองเท้าด้วย (นักวิ่งบางท่านแสดงทรรศนะว่าวิ่งเท้าเปล่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่ผ่านการซ้อมมาอย่างดี หนังเท้าบางๆคงจะพุพอง) นักวิ่งท่านนี้ดูแล้วอายุคงพอสมควร แต่ดูจากป้าย BIBแล้ว แกวิ่งระยะมาราธอนนะครับ สุดยอดดดดด...

และผมไปเจอภาพนี้อีกครั้ง หลังจากงานจอมบึงฯ 1 สัปดาห์ ช่างภาพเก็บภาพมาจากงานวิ่งขอนแก่นมาราธอนครับ โอ้ว.... Very Strong
ผมคิดว่าถ้าเราไม่ใช่นักวิ่งแถวหน้า หวังถ้วยรางวัล ก็น่าจะมาวิ่งจอมบึงฯแบบพักเรื่องสถิติเวลา ความเร็วในการเข้าเส้นชัยไว้ก่อน หันมาร่วมสร้างมหกรรมวิ่งที่งดงามน่าประทับใจกันดีกว่า ซึมซับความสนุกสนาน น้ำใจไมตรี แบ่งปันกันดีกว่า ผมได้ยินคุณลุงท่านหนึ่งที่วิ่งใกล้ๆกัน คุยกับนักวิ่งอีกท่านว่า “ไม่ต้องรีบ วิ่งจบเร็ว เดี๋ยวไม่คุ้ม” เออ...ท่าจะจริงของแกแฮะ ระหว่างทางผมได้พบกับน้องคนหนึ่งที่เป็นนักเรียนเก่าจากโรงเรียนเดียวกัน โดยผมรู้จากเสื้อที่เธอสวมใส่  เราคุยกันได้ไม่นาน ผมก็ชิงวิ่งเลยต่อไป ถ้าผมไม่ห่วงเรื่องการพยายามทำเวลาของการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนแรกของผม ผมคงมีโอกาสได้เป็นสมาชิกชมรมวิ่งของ”คณะเรา”บ้าง เสียดายที่ผมลืมคิดถึงเรื่องนี้




ส่วนที่ไม่ชอบก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆของงานและในพื้นที่ ยังรองรับผู้คนเป็นหมื่นแบบนี้ไม่ไหว และการประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลผู้สมัครยังไม่ Update หรือควรมีหลายช่องทาง โดยเฉพาะเว็บไซต์ของจอมบึงมาราธอนเองที่แทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวของข้อมูลเลย อย่างไรเสียผมก็ยังอยากเห็นผู้คนให้ความสนใจกับการวิ่งมากๆแบบนี้ไปอีกนานๆ ไม่ใช่เฉพาะที่จอมบึงนะครับ ดีกว่าจัดงานวิ่งแล้วมีผู้สมัครกันไม่ถึงเป้า พลังมวลชนที่รวมกันมากๆถ้าสร้างสรรเรื่องราวดีๆ ก็ทำได้ไม่ยากหรอกครับ



วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561

1. ปลูกบ้าน

1. ปลูกบ้าน

ภาษาถิ่นของชาวบ้านบางคน เรียกการก่อสร้างบ้านอยู่อาศัยว่า"ปลูกบ้าน" มโนภาพไปถึงการขุดหลุมปลูกต้นไม้สักต้น แต่นี่ขุดหลุมปลูกบ้านให้งอกขึ้นมาหนึ่งหลัง
ผมซื้อที่ดินแปลงนี้เพื่อจะปลูกบ้าน เนื้อที่ขนาด 100 ตารางวานิดๆ หน้ากว้าง 8-9 เมตร สองข้างซ้าย-ขวามีบ้านของคนอื่นอยู่ก่อนแล้ว ผมเป็นคนไทย แต่ต้องซื้อผืนแผ่นดินไทยจากคนต่างชาติ เพื่อนบ้านติดกับเรา ที่จริงคนชาติอื่นที่ไม่ใช่เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ถือครองที่ดินไม่ได้ก็จริงครับ แต่เขาเคยซื้อที่ดินตรงนี้จากคนไทย แล้วใช้ชื่อญาติที่ได้สัญชาติไทยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแทน


มีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่2-3 ต้น ต้องจ้างคนโค่นทิ้ง และใช้รถขุดขุดตอไปทิ้งซะก่อน 
                            ถ้าไม่ขุดตอออกไป นานๆไปจะผุสลายไป และดินถมข้างบนจะยุบตัวลงไป

หลังจากเก็บขยะ กำจัดวัชพืชแล้ว ก็ต้องเริ่ม"ตีผัง" กำหนดขอบเขตที่จะปลูกบ้าน ที่ดินตรงนี้เจ้าของเดิมเคยถมลูกรังให้สูงขึ้นบ้างแล้ว ผมจึงยังไม่ถมเพิ่มอีก ผมใช้ช่างก่อสร้างที่เป็นทีมญาติๆกัน เห็นว่าอยู่ว่างๆ จะได้มีรายได้บ้าง เป็น"ช่างบ้านๆ"ครับ ไม่มีวิศวกรรมศาสตร์อะไรทั้งนั้น ใช้ประสบการณ์ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถ่ายทอดกันมาล้วนๆ แปลนบ้านผมก็เป็นคนทำเอง ด้วย MS. Excel ลากเส้นกำหนดรูปร่างให้รู้ว่ากว้าง x ยาว เท่าไหร่ ห้องไหนอยู่ตรงไหน ประตู หน้าตา สุขภัณฑ์ อยู่ตรงไหน ไปถึงใช้เป็นผังเดินสายไฟฟ้า ติดตั้งโคมไฟ เต้าเสียบ พร้อมในแผ่นเดียวกัน (A4)

การจับแนวเขตก็ใช้เชือกไนล่อนเส้นเล็ก แบบที่ใช้เล่นว่าวครับ ขึงดึงให้ตึงเป็นแนวให้ขุดหลุมเรียงตามกัน

 ขุดหลุมเทปูนซีเมนต์ลงก้นหลุมเป็นตอม่อรับเสาคอนกรีตขนาดหน้ากว้าง 8 นิ้ว ที่สั่งโรงหล่อปูนทำพิเศษ งานบ้านๆครับ ไม่ได้ใช้เสาปูนเทหล่อที่หน้างาน ประหยัดค่าไม้แบบไปอีกหลายบาท ผนังบ้านก็ใช้อิฐซีแพคก้อนใหญ่แบนๆครับ ก่อเรียงเป็นผนังได้เร็ว จะเรียงตรงได้ฉากได้แนวแค่ไหน ก็สุดแต่ฝีมือช่างครับ ใช้เชือกไนล่อนขึงจับแนว ให้เล็งด้วยสายตากันไป
หาฤกษ์งามยามดี ยกเสาเอกขึ้นตั้งก่อนครับ ไหว้วานเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เรื่องพิธีกรรมมาทำพิธีให้
ก้นหลุมเสาเอกต้องมีการฝังไม้ชื่อมงคล เช่น ขนุน สัก มะยม ราชพฤกษ์ เป็นต้น โรยใบเงิน ใบทอง เงินเหรียญ ให้เป็นมงคล
วันนั้นก็ต้องเกณฑ์พี่น้อง เพื่อนๆมาช่วยกันแบกหามเสาไปตั้งลงหลุมที่เตรียมไว้ทั้งหมด
ยก หาม ผลัก ดัน เล็งกันให้ตรงเน้อ....
ใช้ลูกดิ่งจับการตั้งเสาให้ตั้งฉากกับพื้นโลกให้มากที่สุดครับ ส่วนแนวราบก็เส้นเชือกนั่นแหละ
ปักไม้ค้ำยันให้ทรงตัว ผูกรัดแน่นๆด้วยแถบยาง ที่ตัดเฉือนจากยางล้อรถมอเตอร์ไซต์เก่า ที่ขอมาจากร้านซ่อมฯ หมุนรัดตึง ขันเชนาะด้วยไม้รวก และผูกเชือกหรือตอกตะปูขัดกั้นไม่ให้ดีดคลายตัว

แล้วเทปูนทับโคนเสาให้มั่นคง กลบหินคลุก ลูกรังให้เต็มหลุม
ขุดหลุม วางไม้แบบกั้นเป็นแนวยาว ระหว่างเสาแต่ละต้น ผูกเหล็กเส้นเป็นโครง วางใส่ในช่องว่างของแผ่นไม้ที่ทำเป็นแบบไว้ คล้ายกระดูกในกายมนุษย์ แล้วผสมปูนซีเมนต์ ทรายหยาบ ก้อนหิน เติมน้ำกวนให้เข้ากันดี เทลงไป เป็นคานในแนวราบ
คานล่างบนพื้นมีขนาดสูงกว่าพื้นเดิมอีกฟุตกว่า สั่งหินคลุก ลูกรัง มาเทใส่ให้เต็มอีกสิบกว่าคันรถบรรทุกสิบล้อ
ส่วนคานบนและโครงคร่าวของหลังคาใช้ไม้ทั้งหมด ไม้ที่เคยเก็บสะสมตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ เมื่อครั้งบุกเบิกถางถางป่าดง ตัดไม้ใหญ่ ไม้ดี แปรรูปเก็บไว้ปลูกบ้าน ถูกขนมาใช้จนหมด
ไม้ดีๆมีไม่พอ ก็ต้องโค่นต้นมะพร้าวอายุมากๆมาเสริม ที่ต้องใช้มะพร้าวต้นแก่ๆเพราะเนื้อไม้จะแข็งมาก โดยสังเกตุจากเสี้ยนสีดำในเนื้อ ขนาดต้นที่อายุกว่าสิบปีแล้ว เสี้ยนยังดำไม่เข้าขั้นเลยครับ สมัยนี้จึงหันมาใช้เหล็กแปรรูปเป็นโครงสร้างกันหมดแล้ว
ช่างเขาเร่งมุงหลังคาให้เสร็จก่อนทำงานฐานราก งานด้านล่างเพราะจะให้บังแสงแดดร้อน

หลังจากถมหินคลุกเต็มระดับความสูงของคานที่ต้องการแล้ว ก็ใช้ตะแกรงเหล็กเส้นสำเร็จรูปปูบนพื้น สั่งปูนซีเมนต์ผสมสำเร็จรูปมาเททับ เทพื้นใช้ปูนจำนวนมาก ใช้แรงงานคนผสมกันไม่ไหวครับ แค่ช่วยกันปาดปูนให้ได้ระดับเสมอเรียบดี ก็เล่นกันเหนื่อย
เทพื้นบ้านเสร็จ ก็ทำการก่ออิฐเป็นผนังบ้านให้ครบทุกด้าน
แล้วก็ฉาบปูนให้ผนังเรียบ รอทาสีต่อไป งานสุขาภิบาล พวกท่อน้ำดี ท่อน้ำทิ้ง บ่อเกรอะ บ่อซึม ก็วางท่อ ฝังท่อกันไป จบงานนี้ผมว่าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างได้เลย
ท่อทางที่ฝังใต้ดิน ถ้าถ่ายรูปเก็บไว้ก็จะดีนะครับ วันข้างหน้าเผื่อจะต้องซ่อม ต้องรื้อ จะได้หาได้ง่าย ว่าเคยวางไว้ตรงไหน ยังไง

งานภายในก็ทยอยทำกันไป ติดประตู หน้าต่าง ชักโครก อ่างล้างหน้า ปูกระเบื้อง ตบแต่ง ทาสี ตีฝ้า เดินระบบไฟฟ้า (สองอย่างหลังนี่ต้องจ้างผู้ชำนาญงานมาทำ) ฯลฯ

ถูๆไถๆ ช่วยเขาทำไป เป็นตั้งแต่คนเขียนแบบ จัดซื้อวัสดุก่อสร้าง กรรมกร คิดจะปลูกบ้าน ให้ลืม ไม้โท (้) ไปก่อน อย่าให้บานมาก แล้วค่อยเป็นบ้าน ปลูกบ้านรูปทรงธรรมดาๆแบบนี้ แทบจะไม่ได้ประดับประดาอะไร ยังใช้เงินเป็นล้านเลยครับ สำคัญตรงที่เป็นคนจ่ายตังค์นี่แหละครับ มีใครอยากช่วยจ่ายมั่ง...จบ