วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2562

3.Moka Pot ชงเอง กินเอง

Moka pot ชงเอง กินเอง

ไม่เคยคิดที่จะสนใจกับเรื่องราวของกาแฟและวิธีการชงกาแฟดื่มเลย
แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องรู้จักกัน มันก็ต้องเจอ มาเจอมารู้จักกับหม้อต้มกาแฟที่เรียกว่า Moka Pot
จำได้เลือนลางมากเพราะความที่ไม่เคยใส่ใจ ประมาณว่าชีวิตประจำวันช่วงหนึ่ง มันน่าเบื่อไปซะหมด แม้แต่กิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยสนใจ
ยังไงไม่รู้ เลาๆว่าจะค้นหากาแฟมาชงดื่มมั๊ง ไอ้ยี่ห้อที่เคยซื้อมากิน เปลี่ยนโน่นนี่มานมนาน มันยังไม่เจอที่ใช่ซะที
การค้นหายุคนี้ก็ตามที่ถนัดหละครับ ค้นหาจากข้อมูลอินเตอร์เน็ตกับ Google จนเจอว่ามันมีการชงกาแฟคล้ายกับที่เคยกินตามร้านขายกาแฟสดดาดดื่น มันไม่ต้องมีเครื่องชงกาแฟใหญ่ๆแพงๆก็ชงกินเองที่บ้านได้ มันมีเมล็ดกาแฟคั่ว เอามาบด มาชง ทุกอย่างที่ว่า ซื้อหาออนไลน์ จัดส่งด่วนถึงมือง่ายๆ เออ..ของเล่นใหม่ ฉุดอารมณ์เบื่อให้หายได้
เขาว่า Moka Pot กำเนิดในประเทศอิตาลี โดยนายBialetti ชื่อเดียวกับยี่ห้อหม้อต้มกาแฟที่ผมกำลังกล่าวถึง ความเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์อันน้อยนิดที่ได้สัมผัส ขอยกให้ยี่ห้อนี้เป็นต้นแบบของ Moka pot และสามารถไว้ใจได้ถึงน้ำกาแฟที่จะได้ดื่มจากหม้อต้มชนิดนี้ หลักการทำงานของมันก็คือเอาน้ำร้อนจากหม้อต้มส่วนล่างพุ่งผ่านผงกาแฟคั่วบดในกรวยที่คั่นกลางขึ้นไปตามท่อสู่ยังหม้อเก็บน้ำกาแฟข้างบน ตามภาพประกอบที่หาได้จากอินเตอร์เน็ต

ก็เป็นหลักการเดียวกับเครื่องชงกาแฟสดตามร้านนั่นแหละ แต่แรงดันไอน้ำของ Moka pot จะต่ำกว่าเครื่องชงอยู่หลายบาร์ ผมเดาเอาเองว่ากลิ่นกาแฟจาก Moka pot มันจึงน้อยกว่ามาก กว่ากลิ่นกาแฟที่โชยออกจากเครื่องชงกาแฟ แรงดันไอน้ำร้อนพล่านพรมผงกาแฟให้กลิ่นพรูพุ่งฟุ้งตลบในร้าน ผิดกับ Moka pot ที่ต้มมาหลายต่อหลายแก้ว ผมว่าจมูกผมบอดดับหรือมันไม่มีกลิ่นกาแฟอย่างที่หวังจริง

                                                        ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ตแสดงการทำงานของเครื่องชงกาแฟสด
 
หม้อต้มกาแฟแบบ Moka pot ที่หาซื้อออนไลน์ได้ มีตั้งแต่ใบละไม่กี่ร้อยบาท ไปถึงกว่าสี่พันบาท ผมยังอยากจะยืนยันคำพูดที่กล่าวกันว่า "ของถูกไม่เคยดี ของฟรีไม่มีในโลก" ยังใช้ได้
Moka pot รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์จะเป็นทรงเหลี่ยม ยี่ห้อ Bialetti ผมคิดว่าวัสดุที่ใช้ผลิตเป็นอลูมิเนียมดั้งเดิม นัยว่าไม่เป็นสนิม ถ่ายเทความร้อนได้ดีมั๊ง แต่ต้นตำรับอย่าง Bialetti เองก็มีหม้อสแตนเลสตามออกมา และรูปทรงที่เปลี่ยนไป ประสิทธิภาพในการต้มกาแฟที่มากกว่าต้มน้ำกาแฟสีคล้ำ เป็นแบบมีฟอง เติมนมได้ มีให้เลือกใช้ และสะสม ใช่ครับสำหรับผม คิดว่า Moka pot ยี่ห้อ Bialetti เป็นของสะสมด้วยครับ ไม่แปลกใจเลยที่มีคำว่า "สาวก Bialetti"ผ่านตา
 
ภาพMoka Pot เก่าๆจากอินเตอร์เน็ต Credit : https://www.cultofmac.com/ By Charlie Sorrel • 7:00 am, June 25, 2014
 


ขนาดของ Moka Pot ที่ขายกัน มักจะแสดงด้วยจำนวนถ้ายกาแฟที่ชงได้จากหม้อใบนั้น เช่น 2 cups 3 cups 6 cups เป็นต้น แต่ก็จะอธิบายต่อว่า cup ที่ว่าปริมาตรราว 50 ม.ล. - 60 ม.ล. เป็นปริมาตรน้ำกาแฟที่อยู่ในแก้วกาแฟใบเล็กที่เรียกตามภาษาร้านกาแฟว่า Shot หรือปริมาตรกาแฟชนิด Espresso ดื่มแบบกระดกอึกเดียวของอิตาเลี่ยน เทียบกับหนึ่งแก้วกาแฟที่เราๆกินกันก็ต้องเอา 3 Shot Espresso เทรวมกันเป็น 1 แก้ว ปริมาตรราวๆ 150 - 200 ม.ล. ต่อการกินกาแฟ 1 แก้วของคนไทย
ดังนั้นผมจึงเลือกซื้อ Moka pot ใบแรกด้วยขนาดที่ผมจะกินตามปกติ ก็น่าจะไม่น้อยกว่าขนาด 3 cups หรือเผื่อๆว่าอยากกินเยอะเอาขนาด 4 cups ชัวร์ๆไปเลย ซื้อใบแรกขอแบบต้มแล้วได้กินชัวร์ จึงเลือกของแพงระดับปานกลาง ใบละพันกว่าบาทไว้ก่อน ได้ใบนี้มา Bialetti เป็นสแตนเลส รุ่น Venus ตามข้อมูลของร้านบอกว่าต้มได้กับทุกเตา ตั้งแต่เตาแก๊ส เตาไฟฟ้า เตาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นอกจากหม้อต้มแล้ว พ่วงเครื่องบดเมล็ดกาแฟมาด้วย มือใหม่ หัดชงต้องเอาให้ครบ และขอแบบใช้งานได้จริง ไม่เสี่ยงกับของถูก จีนแดงแม่งโหลไว้ใจไม่ได้
ขอบอกว่าตอนหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงกาแฟด้วย Moka pot ก็จะต้องหาเมล็ดกาแฟคั่วด้วย ก็จะอยากได้สิ่งที่ดี จะชงกาแฟแบบเรื่องมากทั้งที เล่นกันให้สนุก เอาเมล็ดกาแฟ เอาที่บดเมล็ดด้วย คั่วบดมาแล้ว เดี๋ยวไม่สนุก อยากรู้อยากลอง ที่บดเมล็ดกาแฟก็มีตั้งแต่หลักร้อยยันหลักหมื่น อ่านสรรพคุณ ดูหน้าตาแล้ว อย่าเคลิ้มนะครับ ผมงี้เกือบคว่าที่บดมือราคาเหยียบหมื่นมาซะแล้ว ดีว่าได้ยินคนขายกาแฟแนะว่า ที่บดมือมันไม่สม่ำเสมอ ผงกาแฟที่ได้่ไม่เท่ากันทุกครั้ง รสชาติกาแฟที่ชงก็จะเปลี่ยนไป อ่ะ..งั้นเล่นแบบเครื่องบดดีกว่า มีปุ่มตั้ง สั่งงานได้แบบเดิมทุกครั้งที่บด หาที่พอเชื่อคุณภาพได้และราคาไม่หนักเกินมือสมัครเล่นจะรับไหว สั่งออนไลน์จากวีระสุ เจ้าเก่าแก่ เชื่อใจได้มา 1 เครื่อง สั่งเร็ว โอนไว ส่งให้ทันใจ จริงๆ
 
 
ก่อนจะเลยไปเรื่องที่บดเมล็ดกาแฟจนกู่ไม่กลับ วกมาเรื่องหม้อต้มกาแฟต่อนะครับ ส่วนประกอบของ Bialetti Venus ก็มีสามส่วนดังนี้ หม้อใส่น้ำต้มใบล่าง กรวยใส่ผงกาแฟ หม้อเก็บกาแฟชั้นบน
 
 
ปุ่มข้างหม้อต้มใบล่าง ที่เขาเรียก Safety valve หรือวาวล์นิรภัย โฆษณาว่าเอาไว้ลดแรงดันไอน้ำในหม้อ ไม่รู้ว่าจริงมั้ย แต่ก็ดูดีกว่ายี่ห้ออื่นที่ราคาถูก เดี๋ยวค่อยให้ดูถัดไป
 
 
หม้อเก็บกาแฟใบบน และท่อน้ำกาแฟ
 
 
ก่อนต้มกาแฟมากินจริง เขาให้ล้างทำความสะอาดและต้มน้ำร้อนทิ้งสัก2-3 ครั้งก่อน เดี๋ยวค่อยแสดงถัดไป การล้างหม้อนี่ก็มีพิธีการนะครับ เขาว่าอย่าเอาน้ำยาล้างจานมาล้าง เดี๋ยวกลิ่นจะติดหม้อ เวลาเอาหม้อไปต้มกาแฟ กลิ่นกาแฟจะเสีย แต่ผมว่าน้ำยาล้างจานสมัยนี้มันก็โฆษณาว่าล้างออกหมดจด ไม่มีกลื่นตกค้างนี่นา แต่เพื่อไม่ให้ขัดกับพิธีการที่อ่านมา ขอใช้น้ำยาล้างขวดนมเด็กแทนละกัน แต่จริงๆแล้วผมว่าใช้น้ำเปล่าก็พอ นอกจากจะใช้หม้อต้มแบบรุ่นที่เติมนม เป็นคาปูชิโนแบบนั้น มันอาจจะมีครบไขมันติดหม้อบ้าง แต่ที่สำคัญใบโพยของหม้อเองบอกว่าอย่าใช้ฝอยขัดหม้อ
 

เมื่อน้ำร้อนได้ที่ ไม่แน่ใจว่าถึงขั้นเดือดหรือเปล่า บางสำนักบอกว่าน้ำเดือดจะไม่พุ่งขึ้นด้านบน มันจะต้มแค่ร้อนเป็นไอ แล้วดันขึ้นไป ถ้าเปิดฝาหม้อใบบน น้ำกาแฟอาจจะพุ่งเลยหม้อออกไปได้ ต้องคอยเปิดดูด้วยครับ เห็นน้ำกาแฟเต็มแล้ว เสียงฟู่ๆฝุดๆที่ออกทางรูท่อเงียบไปแล้ว และไม่มีน้ำออกมา ก็ปิดเตา ยกหม้อลง ไม่รู้ว่าต้มนานเกินไป จะระเบิดหรือเปล่านะ



4 cups จากหม้อต้มใบนี้ ก็ได้กาแฟเท่าที่เคยชงกิน


เคยอ่านคำคมบทหนึ่ง ตอนนั้นอ่านแล้วรู้สึกชอบ ใจความประมาณว่า "จงเป็นแบบเมล็ดกาแฟ ที่ทำให้น้ำร้อนที่ต้มมันเปลี่ยนสี" ตอนนี้มีเมล็ดกาแฟในมือแล้ว นึกถึงบทความนี้ ลองเอาเมล็ดกาแฟไปแช่น้ำร้อนดูซิ แช่่จนน้ำเย็นมันก็ยังใสเหมือนเดิม


ผมคิดว่ามันจะต้องบดให้เป็นผงนั่นแหละ จึงเอาไปต้มสกัดเอาสารและสีในเมล็ดออกมาได้ เริ่มไม่ชอบคำคมที่เคยอ่านซะแล้ว



หลังจากลองของเล่นชิ้นใหม่แล้ว และเห็นว่ามันใช้ได้จริง เงินที่จ่ายไปไม่เสียเปล่าแน่ ก็เริ่มอยากได้ชิ้นใหม่มาลองเล่นต่อไป เมล็ดกาแฟยังเหลืออีกเยอะ ไม่ได้ซื้อมาห่อเดียวด้วย อ่านคำโฆษณาเมล็ดกาแฟแล้ว มันก็ชวนให้ลองเป็นธรรมดา เดี๋ยวค่อยฝอยต่อไป เอา Moka pot ที่ซื้อต่อมาก่อน ยังสั่งออนไลน์จากร้านเดิม เลือกเอาชนิดที่ต้มกาแฟแบบพิเศษกว่าทั่วไปได้ เป็น Bialetti Kremina 3 cups แพงขึ้นอีกหลายบาท เพราะเป็นรุ่นที่สามารถชงกาแฟใส่นมได้เลย โดยเทนมสดใส่หม้อใบบน พอน้ำกาแฟพุ่งผ่านท่อขึ้นไปผสมกัน จะมีคันชักดึงขึ้น-ลงให้นมกับน้ำกาแฟเข้ากัน นอกจากหม้อต้มแล้ว เที่ยวนี้เอาเตาไฟฟ้ามาด้วย
 
                                                         เทียบกับ Bialetti Venus ใบแรก
 
หม้อใบล่างใส่น้ำต่ำกว่าวาล์นิรภัยตามปกติ วางกรวยลงไป ตักผงกาแฟใส่ให้เต็ม เอาหม้อใบบนหมุนประกบติด ผมเทนมUHT.รสจืดจากกล่องลงไปไม่เกินขีดบอกระดับข้างหม้อ แล้วก็ปิดฝา ตั้งเตา
 
 
เมื่อน้ำร้อนได้ที่ ดันผ่านผงกาแฟขึ้นไป คันชักผสมนมของหม้อชั้นบนก็จะถูกดันสูงขึ้น ผมคิดว่าเตาไฟฟ้าใช้ต้ม Moka pot ได้ดีกว่าเตาแก๊ส ตรงที่ขนาดพอดีกับก้นหม้อ ผิวสัมผัสแนบชิดกัน ถ่ายเทความร้อนได้ดี ผิดกับเตาแก๊สที่เปลวไฟไหววูบตามแรงลมบางครั้ง ทำให้น้ำร้อนช้า ผิดเวลา
 

น้ำกาแฟกับนมผสมกันจนเต็ม ยกลงจากเตา มาปั๊มด้วยคันชักให้เข้ากันดี ตีแตกฟอง

 



 
ต่อไปก็๋เริ่มมองหา Bialetti รุ่นอื่นๆเพิ่ม เท่าที่ดู ก็อยากจะสะสมให้ครบ แต่หัดระงับกิเลสไว้บ้างก็ดี แต่บางรุ่นสรรพคุณช่างยั่วใจเหลือเกิน ถึงเวลาต้องหาสินค้าเดียวกันเทียบราคาหลายๆร้าน ผมซื้อ Moka Pot Bialetti จาก 5 ร้าน ยังไม่มั่นใจเลยครับว่าได้ของแท้ 100%หรือเปล่า เอาแค่ประสิทธิผลที่ได้ ใช้งานได้จริงก่อน เท่าที่ซื้อมาถ้าเป็นยี่ห้อนี้ยังไม่มีพลาด จะต่างกันบ้างก็ที่ราคา และความเรียบร้อยของตัวสินค้า ซึ่งบางชิ้นทำให้รอดรู้สึกไม่ได้ว่า งานจากอิตาลีมันน่าจะเรียบร้อยกว่านี้นะ
 
ใบนี้เป็นรุ่น Express เวอร์ชั่นพิเศษ ผมเลือกขนาด 6 cups ด้วย เพราะนอกจากเป็นของสะสมแล้ว ยังเผื่อไว้ชงกาแฟกินสองคนได้ (รับแขก)
ส่วนอีกใบที่อยู่ข้างซ้าย เป็นกาชงกาแฟแบบ French Press ที่ลองซื้อมาเล่นๆ กะว่าเอาไว้ชงชากิน ในวิธีการชงกาแฟทั้งหลาย ผมยังเทใจไปทางการต้มให้ร้อนและดื่มตอนที่ยังร้อน วิธีอื่นๆเช่นการ Drip ที่รินน้ำร้อนไหลผ่านผงกาแฟ หรือ French Press ที่ใส่น่ำร้อนในผงกาแฟแล้วกดกรองเอาแต่น้ำ รินใส่แก้ว ผมรู้สึกว่าอุณหภูมิของน้ำกาแฟมันลดลงไปมาก
 
Moka pot ทุกใบที่ซื้อมา จะผ่านการต้มน้ำเปล่าทิ้งไปก่อน 2-3 ครั้งเป็นการล้างทำความสะอาดหม้อ ด้วยหม้อต้มโดยเฉพาะใบล่างจะเป็นอลูมิเนียมหล่อ หรือสแตนเลส ซึ่งมันจะมีเศษวัสดุหลงเหลือ ต้องต้มน้ำร้อนล้างออกซะก่อน นอกจากการทำความสะอาดแล้ว ยังเป็นการทดสอบการใช้งานของหม้อแต่ละใบด้วย สำหรับ Bialetti ที่ซื้อมายังไม่เคยเจอใบไหนที่ผิดหวัง อันหนึ่งที่เป็นข้อบ่งชี้การทำงานของหม้อได้คือน้ำในหม้อต้มใบล่าง ควรจะถูกดันขึ้นไปจนหมดหรือเหลือน้อยที่สุด 
 


เมื่อความรู้สึกอยากเก็บ Moka Pot เป็นของสะสมแล้ว ก็จะเริ่มคิดหาเหตุผลที่จะซื้อใบใหม่ ใบนี้เลือกรุ่น Dama 3 cups ลองเปลี่ยนร้านใหม่ อยากเทียบดูสินค้า ราคาใกล้เคียงกัน อยากได้หม้อที่ต้มกินคนเดียว แก้วเดียว ใช้ง่าย ล้างง่าย

ต้นน้ำเปล่าก่อนใช้ ทดสอบ OK. ผ่าน



ต้มจริงกาแฟมาเต็ม



ได้กาแฟ 3 cups น้อยกว่าหม้อขนาด 4cups นิดหน่อย


น้ำในหม้อใบล่างแห้ง

บางทีมีพยศ คุมไฟไม่ดี เวลาไม่ถึง น้ำเหลืออยู่บ้าง


ได้กาแฟน้อยลง ว่ากันไป

ใช้ของแพงไม่มีปัญหา มันก็ต้องลองของถูกๆบ้าง ว่าจะดีเทียบกันได้มั๊ย จะได้ซื้อหามาใช้บ้าง ประหยัดกว่าเยอะ ใบนี้ราคา ห้า-หกร้อยบาท เป็นสแตนเลสด้วยนะ ขนาด 6 cups สังเกตุ Safety valve ที่หม้อต้มใบล่าง จะดูคล้ายน็อตตัวเมียขันแปะไว้ ไม่เหมือนของ Bialetti



เทียบกับสะดือ Bialetti ด้านซ้ายครับ มันมีแท่งเล็กๆข้างในที่กดไม่ลงแต่ดึงออกได้นิดหน่อย ดึงออกมาแล้วเด้งกลับได้ครับ


สะดือ (Safety valve/Release valve) ของหม้อจีนแดงครับ


เทียบกับสะดืออิตาลีด้านในหม้อ



หม้อใหม่ก็ต้องต้มน้ำเปล่าล้างหม้อก่อน แต่ต้มเท่าไหร่น้ำก็ไม่พุ่งขึ้นหม้อบนซะที



เร่งไฟแรงขึ้นก็เท่านั้น ลองต้มนาน จนรู้สึกกลัวหม้อจะระเบิด ให้วาล์วนิรภัยที่เห็นก็ไม่สร้างความมั่นใจให้เลย ว่ามันจะระบายแรงดันของไอน้ำจากด้านในหม้อได้ยังไง อย่าว่าแต่หม้อจีนแดงเลย สะดือหม้ออิตาลีก็ไม่น่าเชื่อใจ
 
ลองต้มน้ำเปล่าไม่ได้ผล ลองใส่ผงกาแฟลงกรวยแบบต้มจริงก็ไม่ได้เรื่อง กลัวแต่เรื่องหม้อระเบิดนี่แหละ มันมีเสียงฟู่ๆแบบไอน้ำดันผ่านท่อขึ้นด้านบน แต่ไม่มีน้ำออกมา


 
เปิดหม้อต้มดูน้ำ ก็เกือบแห้ง ผมใส่น้ำลงไปก่อนต้มถึงสะดือหม้อ แสดงว่ามันคงจะเดือด ระเหือดหายกลายเป็นไปขึ้นทางท่อ เท่าที่หาอ่านในอินเตอร์เน็ต บางคนบอกว่าน้ำที่จะดันผ่านผงกาแฟขึ้นไปหม้อบน จะเป็นแค่น้ำร้อน ยังไม่ถึงระดับจุดเดือด ถ้ามันเดือด จะกลายเป็นไอน้ำ ไม่มีน้ำดันขึ้นไป
 


ผมเสี่ยงต้มอีกหลายครั้ง กลัวก็กลัว กลัวหม้อจะระเบิด ก็คิดดูสิครับ น้ำ 1 แก้วกาแฟ ขนาด 200 ม.ล. ผมต้มจนแห้ง เพื่อให้หายข้องใจว่ามันจะเป็นเพราะอะไร จึงต้มน้ำไม่ขึ้นหม้อใบบน ลองต้มนานขึ้น ใช้ไฟอ่อนก็แล้ว เปลี่ยนมาเร่งไฟแรง เผื่อมันจะเดือดและมีแรงดันมากขึ้น มันต้องเดือดและมีแรงดันในหม้อเล็กแค่ไหน ผมถึงกลัวว่ามันจะระเบิดไง สุดท้ายก็ไม่ได้ผลครับ จำต้องล้างเก็บไว้เฉยๆ  คงเป็นผลยืนยันให้เลิกซื้อ Moka pot ราคาถูกได้เลย




แต่ยังครับ เดี๋ยวค่อยเล่าถึง Moka pot ราคาต่ำกว่าพันบาทต่อไป เปลี่ยนมาฝอยเรื่องเมล็ดกาแฟสักนิด ตามที่กล่าวตอนต้นว่าพยายามจะหากาแฟดื่มแทนยี่ห้อที่เคยดื่มประจำๆมา คือรู้สึกว่ากาแฟสำเร็จรูปส่วนใหญ่พอชงน้ำแล้วรสชาติมันมีรสเปรี้ยว ที่ผมไม่ชอบเอาซะเลย พอลองค้นหาเรื่องกาแฟ ก็ได้ความรู้ว่ารสชาติของกาแฟมันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ แหล่งที่ปลูก ระดับการคั่วด้วย คั่วอ่อนก็จะมีรสเปรี้ยวแฝงอยู่มาก คั่วแก่จนใกล้ไหม้มันก็จะขมเป็นธรรมดา กาแฟเป็นพืชชนิดหนึ่งและเมล็ดก็เป็นผลไม้ ย่อมมีกรดที่ให้รสเปรี้ยวตามธรรมชาติของผลไม้ แต่ยังข้องใจกับเรื่องสายพันธุ์ที่ทำไมมันมีแค่สองชนิด หรือจริงๆแล้วมันมีมากกว่านี้มากมายแบบพืชสกุลอื่นๆ แต่เอาแค่สองชนิดของเมล็ดกาแฟเป็นพื้นฐานแล้วค่อยแยกย่อยให้รสชาติ ให้กลิ่นแตกต่างกันไปด้วยวิธีการคั่ว การผสมกันของเมล็ดกาแฟต่างชนิด ต่างระดับการคั่ว ต่างที่มา ก็มีตัวเลือกให้ซื้อหามากเกินพอ อ่านคำบรรยายคุณลักษณะของแต่ละชื่อการค้าก็เคลิ้มแล้วครับ แต่ผมเลือกซื้อชนิดคั่วกลางถึงเข้มมาใช้เพราะไม่ต้องการรสเปรี้ยวนั่นเอง
ข้อมูลบอกว่าเมล็ดกาแฟแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลักคืออะราบิก้ากับโรบัสต้า ไม่อยากบรรยายมาก ขอใช้ภาพจากอินเตอร์เน็ตบรรยายแทนนะครับ

 ถ้าเป็นแหล่งปลูกในประเทศไทย เขาว่าอะราบิก้าจะปลูกทางภาคเหนือกันตามภูเขาสูง เช่นเชียงราย แม่ฮ่องสอน เป็นต้น ส่วนโรบัสต้าจะปลูกทางภาคใต้ เช่นชุมพร ระนอง เป็นต้น เขาจึงจะผสมเมล็ดกาแฟเพื่ิอให้ได้คุณลักษณะเด่นของแต่ละสายพันธุ์ด้วยการใช้อะราบิก้าเพื่อกลิ่นหอม และเพิ่มความเข้มขมด้วยโรบัสต้า วิธีการผสมเขาใช้คำว่า blend ดังนั้นฉลากบรรจุภัณฑ์ของกาแฟทั้งแบบเมล็ดคั่ว บดแล้ว หรือสำเร็จรูป ถ้ามีคำว่า Blend ก็คือกาแฟผสม กาแฟปรุงแต่งนั่นเอง
ผมลองซื้อเมล็ดกาแฟคั่วแบบยังไม่บด เอามาบดเอง ทั้งสองสายพันธุ์ ก็ได้รสชาติเข้มขมของโรบัสต้าถูกใจ แต่กลิ่นหอมของอะราบิก้ายังไม่เคยรับกลิ่นต่างจากโรบัสต้า ลิ้มรสกาแฟคั่วบดนานไป ผมก็ว่าครือๆกันนั่นแหละ ผมคงไม่อ่อนไหวจนแยกความต่างได้ชัดๆ พอกาแฟเหลือก้นถุงก็จัดการ Blend ซะ
 
ตามบทความเกี่ยวกับสายพันธุ์เมล็ดกาแฟที่เคยอ่าน เขาบอกลักษณะของเมล็ดของแต่ละพันธุ์ที่แตกต่างกัน ได้แก่อราบิก้าจะยาวกว่าและร่องกลางจะคดโค้ง ในขณะที่โรบัสต้าจะกลมเล็กและร่องกลางเป็นเส้นตรง
 ผมจึงสั่งซื้อเมล็ดคั่วของแต่ละสายพันธู์แบบ 100% มาเทียบลักษณะตามภาพ อาจจะไม่ตรงตามข้อมูลที่รับรู้มาสักเท่าไหร่ สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากแหล่งขายต่างกัน คุณภาพของเมล็ดกาแฟจึงต่างกันด้วย
 
 
 
การ Blend หรือผสมเมล็ดกาแฟคั่วทั้งบดและไม่บดของผมเอง ก็แค่เอาแต่ละอย่างที่มีมาผสมกันแค่นั้นเอง แต่ถ้าเป็นผู้ขายแต่ละเจ้าเขาจะมีสูตรของเขา ใช้สัดส่วนในการผสมต่างกัน ลองดูภาพตัวอย่าง เป็นการผสมของผู้ขายเจ้าหนึ่งที่ผมสั่งซื้อ Moka pot แล้วเขาแถมเมล็ดคั่วมาให้ 1 ถุง (250 กรัม) จากสายตาของผมคิดว่ามีทั้งเมล็ดแบบคั่วอ่อน คั่วกลาง ไปถึงคั่วเข้มผสมกัน เมล็ดที่คั่วเข้มมีน้ำมันแตกออกมาเคลือบเงางาม
 
 
 
กาแฟที่ชงจากเมล็ดคั่วอ่อน -กลาง สีของน้ำกาแฟก็จะไม่เข้มคล้ำแบบคั่วเข้ม
 
 
ผมซื้อที่บดเมล็ดกาแฟแบบมือหมุนมาใช้อันนึง เพื่อตอบสนองความต้องการชิมกาแฟคั่วบดได้บ่อยๆ เพราะเมล็ดกาแฟคั่วที่ขายส่วนใหญ่จะบรรจุถุงขนาด 250 กรัม ซึ่งจะใช้เวลาต้มและดื่มประมาณ 1 สัปดาหฺ์ ด้วยการดื่มเฉลี่ยวันละ 2 แก้ว ผมใช้ Moka pot 3 cup - 4 cup ตักผงกาแฟใส่กรวยแต่ละครั้งประมาณ 3 - 4 ช้อน ราวๆ 15 - 20 กรัม ระหว่างที่กินกาแฟยังไม่หมดถุง ก็จะค้นหาเรื่องกาแฟไปเรื่อย พอเจอคำโปรยบรรยายคุณสมบัติของเมล็ดกาแฟสูตรต่างๆ ของร้านโน้นนี้ ก็ต้องสั่งซื้อมาลองสักหน่อย ขนาดว่าผมไม่สนใจประเภทคั่วอ่อนที่จะมีรสเปรี้ยวแล้วนะครับ ยังห้ามใจไม่ได้เลย ดังนั้นที่บดเมล็ดกาแฟแบบมือหมุนจึงมีประโยชน์มากสำหรับคนอยากลอง นอกจากอยากลองรสกาแฟแล้ว จะมีความอยากลองที่บดเมล็ดกาแฟด้วยนะ เคยคิดจะซื้อยี่ห้อ Time more อันละเกือบหมื่นบาทมาใช้ เพราะเคลิ้มในโฆษณา เขาว่าเฟืองบดมันทำมาจากสแตนเลสสตีล จะดีกว่าแบบที่ทำมาจากเซรามิค ตอนนั้นถ้าไม่ตัดสินใจซื้อเครื่องบดไฟฟ้ามา คงได้ลอง Time more แล้ว แต่ของ Bialetti พันกว่าบาทก็โอเคนะ หลอดรับผงกาแฟใช้ตวงเมล็ดกาแฟที่จะบดได้ด้วย ว่าต้องการปริมาณเพื่อต้มกี่ถ้วย มีขีดบอกตั้งแต่ 3 - 6 ถ้วย ตามขนาด Moka pot
 
 
             ผมชอบเว็บไซต์หรือเว็บเพจของโรงคั่วหรือร้านขายเมล็ดกาแฟส่วนใหญ่นะ ดูเขาใส่ใจทำสื่อ ทำPackage ให้ดูดี น่ารัก น่าสนใจมาก มีความเป็นศิลปะอยู่มาก บางแหล่งก็ดูจะเข้าถึงยาก แต่ก็รู้สึกเร้าความสนใจ ท่องเว็บไปเรื่อย การเรียนรู้ไม่สิ้นสุดจริงๆ

กาแฟคั่วบดยี่ห้อนี้กับถุงบรรจุน่ารักๆ รสชาติดี เจอเว็บไชต์โดยบังเอิญ และลองสั่งซื้อออนไลน์มา ไม่ผิดหวัง
 
ชอบแถบพลาสติกที่ติดกับถุงด้วยครับ มีประโยชน์ในการพับถุงเก็บตอนยังใช้ไม่หมด ใช้ปลายของแถบพลาสติกพับหนีบกับถุงกาแฟง่ายๆ
 

 
 
 
                     ส่วนกาแฟคั่วบดยี่ห้อนี้เคยอ่านเจอบทความแนะนำ พยายามค้นหาเพื่อสั่งซื้อออนไลน์ แต่ไม่สำเร็จ จนบังเอิญไปเจอวางขายในSupermarket แห่งหนึ่ง มีแต่รสเข้ม ไม่มีรสกลมกล่อม แกะกล่องเจอถุงฟอยล์สุญญากาศอย่างดี ผิดกับที่คาดจากการอ่านชื่อข้างกล่อง

 
 
อ่านคำการันตีย่อหน้าสุดท้ายข้างกล่องยิ่งประทับใจ


ใส่เกลือ 1 หยิบมือตามที่เขาแนะนำ เข้มขมเต็มคอเต็มอารมณ์
 
 
เท่าที่เคยชิมมาไม่กี่ยี่ห้อ โดยการแกะรอยตามนักชิมที่แนะนำกันไว้ ผมเห็นด้วยกับหลายท่านที่ให้กาแฟคั่วบดถุงนี้เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี แม้จะเป็นกาแฟระดับ Consumer และเป็นกาแฟผสม (Blend) แต่ผมว่าโอเคเลยนะ ไม่เปรี้ยว ไม่ขม ไม่อ่อนเกินไปกำลังดี หาซื้อได้ง่าย เคยซื้อในห้างค้าส่งที่ราคาขายถูกกว่าออนไลน์shop ของต้นทางซะอีก
 
 
                 จากการเสาะหาเมล็ดกาแฟคั่วออนไลน์ ก็ได้เจอ Moka Pot ราคาถูกที่ต้องซื้อมาลองอีกครั้ง อย่างน้อยผมก็เชื่อในชื่อของโรงคั่วแห่งนี้ที่ลำปาง เว็บไซต์มีภาพประกอบน่ารักตามแบบภาพวาดสีน้ำ ตัวหนังสือลายมือเขียนน่ารักๆ อ่านคำบอกเล่า เขาว่าเจ้าของเป็นวิศวกรหนุ่มและแฟนสาว ผมชอบคนสไตล์นี้และผมเชื่อตามที่ชอบ เขาบอกว่าเคยลองต้มด้วย Moka pot ที่เขาขาย และใช้ได้ดีอยู่ ราคาถูกแบบนี้ ผมยังเห็นเว็บของห้างดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯก็มีขายนะครับ ขายคู่กับ Bialetti นี่แหละ
 
เปรียบเทียบกันกับ Bialetti Dama 3 cup เท่ากันครับ สีส้มซ้ายมือราคาถูกกว่าด้านขวากว่าเท่าตัว
 




Safety valve / Release valve หรือสะดือหม้อนี่แหละยิ่งทำให้ผมไม่มั่นใจ เพราะคล้ายกับหม้อจีนแดงที่ล้มเหลวมาแล้วเหลือเกิน

 
 
 ต้มน้ำเปล่าล้างหม้อครั้งแรก ต้องเร่งไฟกันเต็มที่กว่าน้ำจะพุ่ง
 
 
เปิดฝาหม้อไว้ น้ำพุ่งเลยขอบหม้อใบบน กระจายเต็มเตาแก๊ส
 
 
แต่สุดท้ายน้ำพุ่งขึ้นไปได้น้อย เทียบกับ Dama ที่ได้น้ำกาแฟเต็มหม้อใบบน ซ้ายมือน้ำที่ต้มจากหม้อราคาถูก ผมเติมน้ำกาแฟลงไปเพื่อให้มีสี ถ่ายภาพแล้วจะได้เห็นได้ง่าย
 
 
น้ำในหม้อล่างก็แทบไม่เหลือพอกัน
 
 
ลองต่อครั้งที่สองเลยครับ เอาผงกาแฟที่ต้มแล้วจาก Dama มาใช้ต่อ ให้มีสภาพการต้มแบบเดียวกัน
 

 
 พยายามถ่ายให้เห็นไอน้ำพุ่งที่พวยกา ต้นไฟแรงกะว่าให้น้ำเดือด ดันพุ่งให้ได้

ได้น้ำกาแฟน้อยกว่าระดับ 3 cup ของหม้อ Dama นิดหน่อย


 
มันเหลือค้างในหม้อต้มใบล่างนิดหน่อย
 
 


เทียบก้นหม้อเก็บน้ำกาแฟใบบน เป็นแผ่นกรองน้ำกาแฟ และมีวงซีลยางรอบ ซีลนี้ค่อนข้างเสื่อมสภาพง่ายตามการใช้งานที่โดนความร้อนและแรงดันสูง ต้มไปไม่นานเริ่มมีจุดรั่วซึมให้น้ำไหลออกได้ อ้อ..เป็นแทบทุกใบที่ผมใช้งานจริง


หม้อรับน้ำกาแฟด้านบน
 
 
ที่ผมเปรียบเทียบกับ Bialetti Dama ก็เพราะเห็นว่าเป็นขนาด 3 cup ที่มีรูปร่างใกล้เคียงกันมากที่สุดในบรรดา Moka pot ที่ผมมีนะครับ ต่อก็เทียบกรวยใส่ผงกาแฟครับ ขนาดใกล้เคียงกันมาก ต่างกันที่รูกรวยของ Dama กว้างกว่า




เพื่อให้หายข้องใจว่าขนาดของรูกรวยจะมีผลกับน้ำกาแฟที่พุ่งขึ้นด้านบนหรือเปล่า ผมเปลี่ยนเอากรวยของ Dama ใส่ผงกาแฟแล้วไปใช้กับหม้อราคาถูกครับ



เริ่มต้มจากไฟอ่อน น้ำกาแฟเริ่มพุ่งออกมา แล้วจึงเร่งไฟแรงขึ้น กลัวจะพุ่งออกมาน้อย




ได้น้ำกาแฟพอๆกัน สรุปว่าขนาดของรูกรวยไม่น่าจมีผลกับน้ำกาแฟที่ต้มได้





อย่าให้คาใจ รุ่งขึ้นเอาปลายกรรไกรตัดกระดาษคว้านรูกรวยให้ใหญ่ขึ้น แล้วต้มจริงอีกที อลูมิเนียมเนื้อนิ่มครับหาวัสดุแบนๆแข็งๆก็ขูดเนื้ออลูมิเนียมออกได้



แต่คราวนี้ผมลองต้มกับเตาไฟฟ้า ซึ่งผมค่อนข้างเชื่อว่าหน้าสัมผัสระหว่างเตาไฟฟ้ากับก้นหม้อต้มกาแฟที่แนบชิดกัน และความร้อนที่ถ่ายเทสม่ำเสมอจะมีผลดีกับการต้มมากกว่าเตาแก๊ส สรุปว่าได้น้ำกาแฟเต็มแก้วดีครับ




งั้นลองต้มด้วยเตาแก๊สและเตาไฟฟ้าเทียบกันในเวลาไล่เลี่ยต่อเนื่องกันดีกว่าครับ เริ่มจากต้ม Moka pot ราคาถูกด้วยเตาแก๊ส ซึ่งมีลมพัดผ่านให้ไฟวูบวาบบ้าง (หัวเตาอินฟาเรด) ได้น้ำกาแฟค่อนข้างน้อย มีน้ำเหลือค้างในหม้อต้มพอสมควร







เปลี่ยนมาต้มด้วยเตาไฟฟ้าบ้างครับ ลองรินน้ำใส่แก้วเท่าๆกับน้ำกาแฟที่ต้มด้ยเตาแก๊สเมื่อกี๊นี้ เทใส่หม้อต้ม ระดับน้ำจะต่ำกว่าวาล์วนิรภัยอยู่มาก




แล้วรินน้ำใส่แก้วเพิ่มอีกในระดับที่ได้จากการเทน้ำที่เหลือในหม้อต้มด้วยเตาแก๊สเมื่อกี้นี้ เติมลงหม้อต้มรวมกับครั้งแรกก็ได้น้ำปริมาตรเท่ากับที่เริ่มต้มด้วยเตาแก๊ส
 


 
 ตักผงกาแฟใส่กรวยเต็มเท่ากัน แล้วประกอบหม้อใบบน ยกตั้งเตาไฟฟ้า ใช้ไฟระดับร้อนสุดเบอร์ 5
 


ไอน้ำร้อนพวยพุ่งดี น้่ำกาแฟพุ่งล้นตามขอบฝาปิดบางจุดไหลลงล่าง



 

 คราวนี้ได้น้ำกาแฟพอๆกันกับที่ต้มด้วยเตาแก๊สครับ



 
สรุปว่าการต้มกาแฟด้วย Moka Pot มีเทคนิค และปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ผลลัพธ์ที่ได้ต้องเผื่อค่าความเบี่ยงเบนไว้บ้าง
 
และนั่นจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราซื้อ Moka pot ใบใหม่เพิ่มอีก ใบนี้ขอเป็น Bialetti ยี่ห้อเก่าที่เชื่อใจได้มากกว่า (เท่าที่ผมใช้เอง) แต่ขอสะสมModel ต้นตำรับอบ่าง Moka Express ทรงเหลี่ยม วัสดุอลูมิเนียมทั้งใบยนใบล่าง แต่เลือกขนาด 4 cup เผื่อค่าความเบี่ยงเบน รักษาปริมาณน้ำกาแฟให้กินได้เต็มแก้ว เต็มปาก ไม่พลาดแบบต้มด้วย 3 cup ที่อาจจะพร่องไปเยอะ และผมคิดว่า Moka pot Bialetti Express 4 cup หายากกว่าขนาดอื่น นอกจากซื้อมาใช้งานจริงแล้วยังเป็นของสะสมด้วย
 
หม้อใบนี้เปลี่ยนแหล่งที่ซื้อใหม่ครับ แต่ยังเป็นออนไลน์เหมือนเคย เจ้านี้ผมดูอยู่นานแล้ว ลองซื้อมาดู ก็โอเคนะ ไม่น่าพลาด มาดูภายในของหม้อต้มใบล่างกันครับ ส่วนนี้รับแรงดันสูง บางคนบอกว่าทำจากอลูมิเนียมหล่อขึ้นรูป ผมก็อยากจะเชื่อแบบนั้น เพราะคงจะรับแรงดันมากๆไหว แต่สภาพเศษคราบอลูมิเนียมที่ติดตามขอบ ก็ยิ่งทำให้ละเลยการล้าง และต้มน้ำร้อนก่อนใช้สัก 2-3 ครั้ง เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย


 
ขนาดกรวยใส่ผงกาแฟ 4 cup ใหญ่จริง น่าจะต้องตักผงกาแฟใส่หลายช้อน



ชิ้นส่วนที่น่าจะเสียหายได้ง่ายที่สุดก็คงจะเป็นซีลยางกลมนี่แหละครับ คิดว่าอีกหน่อยคงต้องสั่งซื้อมาเปลี่ยน








ผลลัพธ์จากการใช้งาน ราบรื่น ไม่เรรวน ต้มกาแฟเมื่อไร ลวกไข่ ปิ้งขนมปังรอได้เลย วันไหนไม่อยากกินกาแฟถ้วยใหญ่ จะลดปริมาณเหลือ 3 cup ก็ยังได้ แค่ใส่น้ำลงหม้อต้มน้อยเท่ากับ 3 ถ้วย ใส่ผงกาแฟลงกรวยไม่เต็มดี ก็ได้แล้ว ใน Moka pot ที่ผมมีทั้งหมดตอนนี้ ผมยกให้ใบนี้ต้มดีที่สุด








                 พอใช้ Bialetti หลายใบแล้วไม่ผิดหวัง ก็มองหาใบใหม่ต่อ เลือกแบบที่ใช้งานได้ประจำ ล้างง่าย จึงคิดว่าหม้อใบบนที่เป็นทรงกระบอก น่าจะล้างง่ายกว่าแบบเหลี่ยม ด้วยการทำฝาหม้อแบบเปิดออกได้แค่ประมาณ 90 องศา เวลาล้างมือเราจะติดฝาหม้อ หมุนมือจับฟองน้ำถูข้างในหม้อไม่ถนัด ถ้าโค้งเรียบน่าจะดีกว่า จึงเลือกรุ่น Fiammetta 3 cup สีสดใส ร้านนี้ไม่มีสีชมพูหวานแหวว มีแต่แดงแบบนี้ที่หวานสุดแล้ว รุ่นนี้ของ Bialetti ไม่มีกล่องใส่


กรวยใส่ผงกาแฟปั๊ม Made In Italy ซะด้วย (ผมปรับแต่งภาพเพื่อให้เห็นตัวหนังสือง่าย) ส่วนก้นหม้อก็ปั๊มสัญญลักษณ์ของ Bialetti ตามปกติ Design จากอิตาลี แต่ไม่รู้ว่าผลิตที่ไหนนะ ถ้าเป็นพระเครื่องก็ประมาณว่าต้องมีการตอกโค้ดประกันว่าเป็นของแท้ ก็เพิ่งเห็นในกรวยนี่แหละที่บ่งบอกว่าผลิตในอิตาลี


แต่อย่างไรก็ตาม บอกตามตรงว่าไม่เคยมั่นใจแบบ 100%เลยนะ ว่าที่ซื้อมาทั้งหมดนี่เป็นของแท้หรือเปล่า เขาดูกันยังไง ไม่มีความรู้เลยครับ ถือเอาราคาเป็นตัวตั้ง แล้วดูประสิทธิผลเป็นเครื่องยืนยัน อยากจะดูความปราณีตของการผลิตสินค้าเป็นตัวชี้วัดอีกอย่าง แต่ขอบอกว่าแต่ละใบมันมีจุดให้ติได้ทั้งนั้น ตัวอย่างจาก Fiammetta ใบนี้ก็ได้ครับ ดูงานทำสีสิครับ พ่นซะกระจายฟุ้งตามขอบเต็มไปหมด เลยไปถึงขอบด้านในหม้อต้มก็มี



ลองต้มล้างหม้อ น้ำพุ่งขึ้นท่อแรงดี เปิดฝาดู น้ำเลยขอบหม้อเลยครับ


ได้น้ำเต็มแก้วดี


บางทีก็มีเหลือในหม้อต้มนิดหน่อย หากยกออกจากเตาเร็ว ก่อนน้ำจะพุ่งขึ้นหม้อด้านบนหมด
 


หม้อใบนี้ต้มไปไม่กี่ครั้ง ได้ยินเสียงน้ำเดือดพุ่งล้นหม้อลงเตาไปเสี่ยงฉี่ฉ่า สังเกตุรอบหม้อ ไม่มีน้ำกาแฟล้มหม้อใบบน แต่มีน้ำใสไหลออกระหว่างเกลียวต่อหม้อทั้งสองส่วน เอามืออังรอบๆมีไอร้อนพุ่งออกมา แสดงว่าซีลยางข้างในคงมีจุดเสื่อม แต่ก็เป็นคำตอบอันนึงได้ว่า หม้อจีนแดงราคาถูกที่ต้มแล้วน้ำไม่ขึ้นข้างบน ไม่มีสาเหตุจากซีลรั่ว ขนาดใบนี้ซีลรั่วเห็นๆ น้ำยังขึ้นเลยครับ



ซื้อมาหลายใบ ใช้จริงไม่กี่ใบ เก็บใส่กล่องซะมาก
 

หม้อชงกาแฟไทยก็มีนะ แต่ถุงผ้าใส่ผงกาแฟไปไหนแล้วไม่รู้
 

ชาไทยชงกับ Moka Pot ก็ได้นะ หอมฟุ้งจากครัวออกหน้าบ้านเลยเชียว ทีต้มกาแฟทำไมไม่ฟุ้งแบบต้มชานะ


ซื้อชาไทบแบบซองชงน้ำร้อนมานานแล้ว ไม่สะดวกชง ทีนี้ใช้ฉีกซองเทผงชาลงกรวย  Moka Pot ต้มที5-6 ซอง เดี๋ยวก็คงหมดกระป๋องนี้ซะที



ก็..คิดว่า ตัวเองทำความรู้จักกับ Moka pot เพียงพอแล้ว ระงับกิเลสที่จะซื้อรุ่นอื่นๆมาทดลองหรือสะสมได้ เพราะการต้มกาแฟก็ใช้หลักการเดียวกัน ได้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกันนัก แต่ Bialetti ก็คงพยายามทำการตลาด เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สามารถดึงดูดความสนใจของ"สาวก"ได้พอสมควร เท่าที่ค้นข้อมูลร้านค้าออนไลน์ของไทย ผมเจอเจ้าเดียวที่มีตัวเลือก Moka Pot Bialetti เยอะที่สุด ถ้าผมระงับกิเลสไม่ได้ คงจะซื้อจากเจ้านี้อีกสัก 2-3 ใบ แต่ยังไม่ทันจะซื้อจากเจ้านี้ ก็ไปเจออีกเจ้าที่ระยอง มีไม่มากรุ่น แต่ราคาถูกกว่าทุกเจ้าที่ผมเจอ สำหรับรุน Brikka ที่มีคุณสมบัติเด่นในการต้มกาแฟดำแบบมีฟองละเอียดชนิดที่เรียกในภาษาร้านกาแฟสดว่า Crema ผมสั่งซื้อออนไลน์ขนาด 4cup ราคาสองพันห้าร้อยบาทมีทอน ส่งด่วนทันใจ แถมเมล็ดกาแฟคั่ว 250 กรัมให้อีก 1ถุง


 
แม้ว่าราคาจะถูกกว่าชาวบ้าน และอยู่ภูธร แต่อย่าเพิ่งคิดระแวงนะครับ อย่างน้อยร้านนี้ก็ไม่เล็กนะครับ ขายเครื่องชง และอุปกรณ์ร้านกาแฟครบครัน มีเครื่องคั่วเมล็ดกาแฟเอง และเปิดสอนการชงการทำร้านกาแฟด้วย เอาสิ
ผมแกะกล่องหยิบ Moka pot Brikka 4 cup ที่ซื้อจากร้านนี้ขึ้นมาดู เจอป้ายลายแทงตามศรชี้ในภาพ อืม..ลายแทงอันนี้แหละครับ สร้างความมั่นใจในสินค้ามาก มันเป็นป้ายของร้านหนึ่งในกรุงเทพฯที่ปะคำว่า Authorized Distributor ในภาพ Moka Pot Bialetti ที่เขาขาย ที่ผมใช้คำว่า"ลายแทง" เพราะว่า ผมเคยซื้อหม้อยี่ห้อนี้จากระบบออนไลน์ของห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สินค้าที่ได้มีสติ๊กเกอร์ของผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอีกรายที่ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้านั้น มันส่งต่อมาจากเจ้าของป้ายนี้ครับ และผมเคยสั่งซื้อ Moka pot Bialetti กับ ที่บดกาแฟมือหมุนจาก Authorized Distributor นี้โดยตรง แต่ครั้งหลังสุดผมพยายามทำรายการสั่งซื้อออนไลน์อีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ส่งอีเมล์ไปถาม ก็ไม่ตอบ
แต่ทำไม Brikka ใบนี้จากระยอง ราคาถูกกว่าของเจ้าของป้ายลายแทงซะอีก

 
แม้ว่า Moka pot Bialetti จะถือกำเนิดที่อิตาลี แต่แหล่งผลิตคงจะไม่ใช่ที่ั่นั่นแล้ว เท่าที่ซื้อมาไม่กี่ใบ ทุกใบจะมีการตอกเครื่องหมาย Made by Bialetti และ Italian Quality & Design ที่ก้นหม้อต้ม พยายามถามเพื่อนๆที่มีฐานะว่าใครจะไปเที่ยวประเทศอิตาลีบ้าง อยากจะฝากซื้อ Moka Pot ที่ Made in Italy แท้ๆสักใบ จริงๆนะ ตอนนี้ได้แค่ Made in Romania ก็พอจะเชื่อใจได้กว่า Made in China
 


 
Brikka 4 cup มีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่า Bialetti Moka pot Expree 4 cup โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหม้อต้มน้ำใบล่าง รุ่นนี้เป็นรุ่น R หรือปรับปรุงใหม่ รุ่นก่อนหน้าหม้อต้มจะเป็นสีเงินอลูมิเนียมทั้งใบ ผมเดาเอาเองว่าสาเหตุที่ Brikka มีหม้อต้มใหญ่กว่า Express 4 cup เพราะมันคงจะต้องการแรงดันไอน้ำสูงกว่า เพื่อพ่นน้ำกาแฟสู่หม้อเก็บใบบนแบบมีฟองละเอียด




เขาว่ากันว่า Brikka รุ่นก่อนจะมีตัวหนังสือ H2O สูตรเคมีที่หมายถึงน้ำบนแท่งวัดระดับน้ำข้างหม้อเก็บน้ำกาแฟใบบน ซึ่งการต้มกาแฟด้วย Brikka กำหนดให้ตวงน้ำเปล่าด้วยหม้อใบบน ไม่เกินแท่งเหลี่ยมนี้ แล้วเทใส่หม้อต้มอีกที นอกจากตัวหนังสือนี้จะไม่มีในรุ่นใหม่แล้ว เขาว่ากันว่ารุ่นเก่าจะมีกระจกใสปิดรูบนฝาหม้อด้วย แต่ไม่รู้ว่าต้องเก่าถึงรุ่นปีไหน เพราะยังหาภาพตัวอย่างไม่ได้จากอินเตอร์เน็ต ดังนั้นBrikka รุ่นมีกระจกที่ฝาปิด จึงเป็นที่แสวงหาของนักสะสม


ตัวอย่างอักษร H2O ของรุ่นเก่า (Cr. ภาพจากอินเตอร์เน็ต)



ผมเคยอ่านข้อมูลเกี่ยวกับส่วนปลายของท่อส่งน้ำกาแฟมาแล้ว จึงลองถอดแยกชิ้นดูบ้าง ฝาปิดบนสุดสามารถหมุนออกได้ เวลาล้างทำความสะอาดก็ควรหมุนถอดออกเพื่อล้างชิ้นส่วนภายใน


หมุนฝาครอบออกแล้ว ส่วนที่เคยประกบเกลียวกันก็หล่นรูดตามท่อน้ำลงไป


วงของส่วนประกบฝาครอบไม่สามารถหลุดออกจากก้อนสีเหลี่ยมปลายสุดได้เพราะขนาดมันใหญ่กว่านิดหน่อย เส้นทะแยงมุมจะกว้างกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางวงกลม

ก้อนสี่เหลี่ยมสามารถหมุนออกมาได้เช่นกัน

มาดูชิ้นส่วนต่างๆที่กล่าวมา





ที่ส่วนปลายจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางแคบลงอีกประมาณ 2 ม.ม.
 
 
ก้อนสี่เหลี่ยมที่ปิดปลายท่อน้ำมีจุกซิลิโคนสีขาวอุดไว้ มีรูเท่าเข็มให้น้ำกาแฟพุ่งผ่าน มันคงต้องใช้แรงดันมากๆ นี่อาจจะเป็นจุดที่ทำให้เกิด Crema

เวลาถอดชิ้นส่วนทั้งหมดล้างทำความสะอาด ผมเผลอทำจุกเล็กๆนี้หล่นไป ดีที่ไม่หลุดลงท่อน้ำทิ้งไปซะก่อน

 
 ทดสอบครั้งแรกและต้นน้ำเปล่าล้างหม้อ ก็ตวงน้ำลงหม้อใบบนตามระดับแท่งที่แนบข้างหม้อ ใช้น้ำขนาดกาแฟที่ชงกิน 4 cup ปกติ



 
พอเทใส่หม้อต้มใบล่าง ระดับน้ำจะต่ำกว่าวาล์วนิรภัยอยู่มากทีเดียว ถ้าเป็นหม้อต้ม 4 cup Express หรือ 3 cup รุ่นอื่นๆ ระดับน้ำจะเกือบติดสะดือ/วาล์วนิรภัย สันนิษฐานว่า Brikka ต้องการแรงดันไอน้ำสูง ตามที่เดาจากขนาดของหม้อต้มที่ใหญ่เป็นพิเศษ


ต้มแบบกล้าๆกลัวๆ ได้น้ำขึ้นหม้อบนแค่ครึ่งหนึ่งของที่ใส่ลงไป
 
 
ลองครั้งที่สอง เติมน้ำเกินขีดที่หำหนดนิดนึง เผื่อได้น้ำขึ้นหม้อใบบนเยอะขึ้นแบบที่ 4 cup ควรจะเป็น



น้ำเดือดพุ่งแรง ได้น้ำกลับมาเต็ม
 

แต่ต้มล้างหม้อครั้งที่สาม น้ำขาดไปเยอะอีกแล้ว ไม่ง่ายกับ Brikka ซะแล้ว



ลองต้มกับผงกาแฟจริง ต้มให้นาน กะว่าน้ำพุ่งขึ้นหม้อบนให้หมด ก็เดือดพุ่งล้นฝาหม้อหกเลอะเทอะ น้ำกาแฟก็เหลือน้อย ฟองก็หายหมด
 



 
 เอาใหม่ พอน้ำกาแฟพุ่งออกข้างบน ได้ฟองลอยเต็มหม้อ รีบยกลง ก็ยังเหลือฟองนิดเดียว



ยกลงจากเตาช้าก็ทำให้ฟองหายไปครับ เทใส่แก้วยิ่งแทบไม่เหลือ เติมน้ำตาล เติมครีม หายหมดพอดี
 
 
 Moka pot ที่วางใกล้กัน ลองสลับชิ้นส่วนกันดู บางชิ้นบางรุ่นก็ใช้ร่วมกันได้ แต่ยังไม่เคยลอง ไม่รู้จะพิสูจน์อะไร
เคยดู You Tube ต่างชาติที่แสดงการต้มกาแฟด้วย Brikka 4 cup แก้ปัญหาไม่มีฟอง ด้วยการสลับกรวยใส่ผงกาแฟ เอากรวยของ Express ไปใส่ในหม้อต้ม Brikka แทน ได้ฟองเต็มดี แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นกรวยของ Express ขนาดเท่าไร ผมเอากรวยของ Express 4 cup ที่ผมมี ใส่ลงในกรวยของ Brikka 4 cup ได้เลย มันเล็กกว่ามาก แล้วมันจะใช้ได้เหรอ ผมไม่ได้ลองดูเพราะล้าง  Brikka เก็บใส่กล่องไปแล้ว ผมขี้เกียจต้มกาแฟ 1 แก้ว แล้วเสียเวลาล้างนานเกินความจำเป็น แต่ก็ยังสงสัยไม่วาย ว่าขนาด 3 cup 4 cup และอื่นๆ cup ของ Bialetti มันจะตวงด้วยกรวยใส่ผงกาแฟเท่ากันมั้๊ยนี่ ภาพนี้ใบสีชมพูคือ Fiammetta 3 cup อลูมิเนียมเหลี่ยมคือ Express 4 cup และทรงกลมสีดำคือ Brikka 4 cup


 
ก่อนที่จะล้างทำความสะอาด Brikka เก็บใส่กล่อง ผมลองต้มกาแฟกับเตาไฟฟ้าอีกครั้ง ซึ่งปกติจะคุมความร้อนได้ดีกว่าต้มด้วยเตาแก๊ส
 
 
พอน้ำร้อนฉีดพุ่งออกส่วนปลายท่อในหม้อเก็บน้ำกาแฟ เสียงลมฟู่ฟุดฟิดพร้อมฟองกาแฟ ก็รีบยกออกจากเตา ตั้งพักให้น้ำกาแฟพร้อมฟอง Crema ออกมาต่อด้วยแรงดันที่เหลือในหม้อ จึงจะได้ Crema ถ้าให้ความร้อนต่ออีกนิดเดียว ฟองก็จะค่อยๆหมดไป
 




 
แต่พอเติมน้ำตาล ครีมเทียม แล้วก็คนๆๆๆ มันก็จะค่อยหมดไป
 


ก่อนจะหา Moka pot มาใช้ ก็เคยติกาแฟสำเร็จรูปที่ชงแล้วมีฟอง ถึงฟองจะไม่ละเอียดเป็น Crema ก็เถอะ งั้นล้าง Brikka เก็บละกัน
 
 
สมัยนี้กาแฟสำเร็จรูปมีการพัฒนาคุณสมบัติให้คล้ายกับที่ได้จากการชงกาแฟคั่วบด แต่สะดวก ง่ายดายในการเตรียมเครื่องดื่มกว่ามาก แค่ตักใส่ถ้วยเติมน้ำร้อน เติมน้ำตาล นม ครีม ก็เสร็จ
ผมสังเกตุดูขนาดผงกาแฟสำเร็จรูปยี่ห้อดัง สูตร Crema ผงจะละเอียดเล็กมาก พอชงน้ำร้อน คล้ายกับมันมีหารแตกปะทุเกิดฟองอากาศเล็กจิ๋วจำนวนมากจนเป็น Crema แต่ก็อยู่ได้ประเดี๋ยวเดียวแบบที่ผมได้จาก Brikka นั่นแหละ
 

 

จะเอาแบบเน้นแหล่งปลูกเมล็ดกาแฟ เป็น Origin ก็มีนะ ตอนนี้เห็นมี limited จากระนองก่อน หรือแบบ Drip ก็มีเยอะเลย


ผมจวนเจียนจะซื้อชุด Drip กาแฟมาใช้หลายครั้ง แต่นึกติตรงที่มันคงจะร้อนสู่แบบต้ม Moka pot ไม่ได้ กาแฟร้อนมันควรจะร้อนแบบต้มน้ำเดือดๆใหม่ๆ การรินน้ำเดือดใส่ชุดดริปมันกินเวลาหลายนาทีที่จะพาความร้อนหายไประหว่างน้ำไหลหยดผ่านกรวยดริปและกระดาษกรอง แค่ความรู้สึกของผมเอง
คิดว่าถ้าจะ Drip อยากจะลองแบบ Cold brew เห็นเขาทำเป็นตัวอย่างง่ายๆ รอสักวันครับ ผงกาแฟก็มีแล้ว
 
 
ต้มกาแฟด้วย Moka Pot ต้องคอยเฝ้าดู ไม่มีตัวช่วยเตือนการสิ้นสุดการทำงาน ปล่อยทิ้งไว้มีสิทธิไฟไหม้บ้าน และเสียเวลาล้างหม้อ แต่จะได้กาแฟที่รสชาติดีกว่าผงกาแฟสำเร็จรูป เลือกต้มด้วยกาแฟคั่วบดที่ให้คุณลักษณะแบบที่ชอบ ก็จะได้กาแฟที่เข้ม คม แบบอิตาเลี่ยน นึกถึงหนังเรื่อง The God's Father เชียวหละ 
.....................................................................................................................................
 
 Appendix:
 
Key word search by Google สำหรับข้อมูลของต้นเรื่อง
 
Cafrista/Unipack
โวคลิฟวิ่ง
Pot Shop
Mokapot24
โรงคั่วกาแฟปรีดา
akhaamacoffee
suzuki-coffee
Masterpiece Coffee